ผู้เรื่มต้น ผู้เริ่มต้นผลิตยาสมุนไพรชุมชนปฐมอโศก คือ ทันตแพทย์หญิงวิจิตรคงเกียรติไพบูลย์ (ได้รับชื่อใหม่จากพ่อท่านพระโพธิรักษ์เป็น ทันตแพทย์หญิงฟากฟ้าหนึ่ง อโศกตระกูล ) ได้เริ่มต้นผลิตอย่างไม่เป็นทางการในปี ๒๕๓๒ ผลิตเพียงเพื่อใช้ และจำหน่ายในชุมชนปฐมอโศก และร้านมังสวิรัติปฐมอโศกที่ซอย ๒ ในตัวเมืองจังหวัดครปฐม ต่อมาก็เริ่มเป็นที่นิยมและเริ่มมีการผลิตและจำหน่ายเพิ่มมากขึ้น
เป็นโรงงานยา ► ในปี ๒๕๓๕ ชุมชนปฐมอโศกได้ขอตั้งโรงงานยาอย่างเป็นทางการจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม และได้ดำเนินการขอขึ้นทะเบียนยาจากกระทรวงสาธารณสุข ปี๒๕๔๐การผลิตเริ่มมีการเปลี่ยนภาชนะบรรจุให้สวยงามขึ้น จึงทำให้มีผู้นิยมใช้ยามากขึ้น อาคารการผลิตยังกระจัดกระจาย จนต้องมีการสร้างอาคารการผลิตหลังใหญ่ เพื่อให้การผลิตมีระบบได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น
อาคารหลังใหม่ ►ในพ.ศ. ๒๕๔๔ เรามี อาคารหลังใหม่เป็นอาคารที่เตรียมพร้อมเพื่อให้เป็นไปตามหลัก การผลิตที่ดี หรือ Good Manufacturing Practice (GMP) เป็นอาคาร ๔ ชั้น เราได้ตั้งชื่อว่า ศูนย์ศึกษาวิจัยและพัฒนาการแปรรูปสมุนไพร ชุมชนปฐมอโศก (พ่อท่านพระโพธิรักษ์ได้ตั้งชื่อเป็นการภายในเพื่อให้ง่ายต่อการเรียกว่า ศูนย์เจาะวิจัย และนอกจากนั้น เรายังได้รับการช่วยเหลือในอาคารการเตรียมวัตถุดิบ จากกลุ่มคณาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และท่านเภสัชกรหญิง ดร.กฤษณา ไกรสินธุ์ ได้ตั้งชื่ออาคารนี้ว่า ไพรอโศก เป็นอาคาร ๒ชั้น ชั้นบนเป็นลานตากสมุนไพรพลังแสงอาทิตย์ ส่วนชั้นล่างเป็นการเตรียมสมุนไพรสดนำมาล้างทำความสะอาด หั่น ตาก อบ บด คั่ว ก่อนนำขึ้นมาตึกศูนย์เจาะวิจัยเพื่อผลิตเป็นรูปแบบยา แคปซูล ยาลูกกลอน ยาเม็ด เป็นต้น และบรรจุขวด หีบห่อ และส่งฉายแสงแกมม่าเรย์ ฆ่าเชื้อ ก่อนส่งเข้าห้องคลังยาสำเร็จรูป เพื่อรอการจำหน่ายต่อไป
ตำรับยา ► ขณะนี้เรามีการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่เป็นยาประมาณ กว่า ๑๐๐ ตำรับ มีกว่าครึ่งที่เป็นยาสามัญประจำบ้านที่สามารถนำไปขายในร้านทั่วไปได้
ปีแห่งการสูญเสียที่สำคัญ วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๐ ทันตแพทย์หญิงฟากฟ้าหนึ่ง อโศกตระกูล ได้รับอุบัติเหตุรถชนที่จังหวัดกาญจนบุรี เสียชีวิต รวมอายุได้ ๕๓ ปี หลังจากกลับจากนาแรงรักที่เธอได้พยายามซื้อไว้เพราะชาวนาเริ่มขายที่นา เธอหวังจะให้ชุมชนปฐมอโศกได้พึ่งตนเองในการปลูกข้าวไว้บริโภคเอง เป็นการปลูกแบบไร้สารพิษ ได้ซื้อที่นาไว้ ๑๐๐ ไร่ และที่เนินอีก ๑๐๐ ไร่ เพื่อปลูกพืชผักผลไม้ ตราบจนบัดนี้ปฐมอโศกสามารถปลูกข้าวเพื่อบริโภคเอง และยังเป็นที่ฝึกงานการปลูกข้าวของนักเรียนสัมมาสิกขาปฐมอโศกอีกด้วย พ่อท่านพระโพธิรักษ์ได้อนุมัติให้สร้างอนุเสาวรีย์ของ ทันตแพทย์หญิงฟากฟ้าหนึ่ง อโศกตระกูล ไว้ที่นาแรงรักแห่งนี้ เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่คนรุ่นหลัง